การสร้างเมืองขอนแก่น

มีเรื่องเล่าต่อๆกันมาว่าครั้งหนึ่งต้นมะขามใหญ่ถูกตัดโค่นลงไว้หลายปีกลับงอกงามมีกิ่งก้านสาขาขึ้นอีก ประชาชนถือว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์จึงพากันสร้างเจดีย์ครอบต้นมะขามนั้นไว้เรียกว่า เจดีย์ขามแก่น และถือเป็นปูชนียสถาน เคารพกราบไหว้ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน จึงได้นำมาเป็นตราประจำจังหวัด ต่อมาคำว่า ขามแก่น ก็เพี้ยนเป็น ขอนแก่น

การสร้างเมืองขอนแก่น เริ่มขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ในราว พ.ศ.2340 เมืองขอนแก่นไปตั้งอยู่ที่บ้านหนองเหล็ก
พ.ศ. 2439 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เปลี่ยนการปกครองหัวเมืองไกลใหม่ เมืองขอนแก่นจึงอยู่ภายใต้การปกครองของเมืองอุดรธานี หรือมณฑลอุดรธานี โดยมีกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมเป็นผู้ปกครองมณฑล จึงเปลี่ยนนามตำแหน่งเจ้าเมืองเป็นผู้ว่าราชการเมือง และตั้งชื่อเมืองว่า "ขอนแก่น" จนถึงปัจจุบัน
19 พฤษภาคม พ.ศ. 2459 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกเลิกระบบมณฑลในประเทศ ให้เปลี่ยนคำว่าเมืองเป็นจังหวัดแทน ตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองจึงกลายเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด และศาลาว่าการเมืองก็เปลี่ยนมาเป็นศาลากลางจังหวัด นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาขอนแก่นจึงได้กำเนิดเป็น "จังหวัดขอนแก่น"