พระธาตุศิโรดมขอนแก่น(พระธาตุขามแก่นศิโรดม...เดิม)
บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่น
บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่น
พระธาตุศิโรดมขอนแก่น (พระธาตุขามแก่นศิโรดม...เดิม) เป็นสถูปจำลองแบบมาจากพุทธคยา ณ ประเทศอินเดีย ภายในสถูปมีองค์พระธาตุขามแก่น (จำลองมาจากวัดเจติยภูมิอำเภอน้ำพอง) และบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ 9 องค์ โดยหลวงปู่ผาง จิตตคุตโต และยังบรรจุคัมภีร์คำสั่งสอนของพระศาสดา 9 บท พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่มีอายุยืนนานหลายร้อยปี อีก 9 องค์ด้วย
ความเป็นมาของการก่อสร้าง พระธาตุศิโรดมขอนแก่น หรือ พระธาตุขามแก่นศิโรดม...เดิม สืบเนื่องจากพระธาตุขามแก่น ที่ วัดเจติยภูมิ บ้านขาม ตำบลบ้านขาม อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่เป็นที่เคารพบูชาของชาวขอนแก่นและชาวภาคอีสาน ซึ่งก่อสร้างมานานอายุเกิน 400 ปี เป็นปูชนียสถานคู่บ้านคู่เมืองและเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดขอนแก่น สมัยก่อนไม่สะดวกสบายในการเดินทางไปเคารพบูชาเนื่องจากการคมนาคมไม่สะดวกแม้จะอยู่ห่างจากจังหวัดขอนแก่น เพียง 26 กิโลเมตรก็ตาม เนื่องจากเป็นถนนทางเกวียนต่อมาก็เป็นถนนดินฝุ่น ลูกรัง (ไม่เหมือนปัจจุบัน) เมื่อผู้มีจิตศรัทธาจะไปกราบไหว้สักการะบูชา ก็ลำบาก จึงไม่ค่อยมีผู้เดินทางไปมากนัก
ต่อมาปี พ.ศ. 2522 นายชำนาญ พจนา ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ได้ปรึกษาหารือกับคณะข้าราชการ พ่อค้า และประชาชน มีความคิดจะเชิดชูพระธาตุขามแก่น วัดเจติยภูมิ อำเภอน้ำพอง ให้เป็นที่รู้จักทั้งคนไทยและต่างประเทศ ให้สามารถไปกราบไหว้ได้สะดวก จึงเกิดแนวความคิดเกี่ยวกับการสร้างพระธาตุขามแก่นจำลองขึ้น และเลือกสถานที่ ณ บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่น เพื่อความสะดวกสบายแก่ประชาชน ที่จะกราบไหว้บูชา
นายชำนาญ พจนา ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น จึงได้พาข้าราชการผู้ใหญ่ พ่อค้า ประชาชน ไปบวงสรวงขออนุมัติดวงวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์องค์พระธาตุขามแก่น ณ วัดเจติยภูมิ อำเภอน้ำพอง เพื่อสร้างพระธาตุขามแก่นจำลองขึ้น เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2523 และวันที่ 29 กันยายน 2523 ได้รับความเมตตาอนุเคราะห์จาก หลวงปู่ผาง จิตตคุตโต วัดอุดมคงคารีรีเขต อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น ให้ความเมตตาสนับสนุนแนวความคิดและการช่วยเหลือการก่อสร้าง ตลอดจนการดำเนินการก่อสร้าง จนแล้วเสร็จ
พระธาตุขามแก่นศิโรดม หรือปัจจุบันคือ พระธาตุศิโรดมขอนแก่น เมื่อสร้างเสร็จแล้ว ได้ทำการสมโภชและปลุกเสก เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2523 โดย เกจิอาจารย์จาก 9 จังหวัด พร้อมเปิดให้ประชาชนเข้าสักการะบูชาครั้งแรกในเทศกาลไหม ประเพณีผูกเสี่ยว และงานกาชาดจังหวัดขอนแก่น ประจำปี 2523 ต่อมาจึงได้ก่อสร้างพระสถูปขึ้นครอบองค์พระธาตุจำลองไว้ โดยจำลองแบบมาจากพุทธคยา ณ ประเทศอินเดีย และกรมศิลปากรได้ดัดแปลงให้มีศิลปของไทยในยุครัตนโกสินทร์ ดำเนินการก่อสร้างเสร็จ เพื่อเฉลิมฉลองในวาระครบ 200 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2525 ค่าก่อสร้างทั้งหมดประมาณ 2,250,000 บาท
ความสำคัญ
พระธาตุศิโรดมขอนแก่น (พระธาตุขามแก่นศิโรดม...เดิม) ได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ 9 องค์ โดยหลวงปู่ผาง จิตตคุตโต ได้เมตตาบรรจุให้ และนอกจากนี้ยังได้บรรจุคัมภีร์คำสั่งสอนของพระศาสดา 9 บท พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่มีอายุยืนนานหลายร้อยปีอีก 9 องค์ และองค์พระธาตุได้ก่อสร้างโดยผสมดินอันศักดิ์สิทธิ์ที่อันเชิญมาจากสังเวชนียสถาน 4 แห่ง จากดินแดนพุทธภูมิ ในประเทศเนปาล และประเทศอินเดีย ด้วย ได้ประกอบพิธียกฉัตรเปิดพระธาตุ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2525 โดย สมเด็จอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช เสด็จเป็นองค์ประธาน
ตั้งแต่นั้นมา จังหวัดขอนแก่นได้กำหนดวันที่ 28 พฤศจิกายน ทุกปี เป็นวันบวงสรวงสักการะบูชาพระธาตุศิโรดมขอนแก่น ยึดถือเป็นประเพณีปฏิบัติสืบต่อไป
สำหรับการเรียกขาน "พระธาตุศิโรดมขอนแก่น” นี้ เนื่องจาก นายประเทือง ธนจันทร์ เจ้าของและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น "แดนไทย” ได้เสนอแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ปลายสมัยนายวิจารณ์ ไชยนันทน์ และได้มีการติดตามสอบถามเรื่อยมา และนายเจตน์ ธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ได้มอบหมายให้สำนักงานงานวัฒนธรรมจังหวัดขอนแก่น ทำการสำรวจประชามติ การเรียกขานชื่อใหม่นี้ เนื่องจากว่าปัจจุบัน องค์พระธาตุขามแก่น ณ วัดเจติยภูมิ อ.น้ำพอง มีความสะดวกสบายในการเดินทางไปกราบนมัสการ และยังได้มีการบูรณะพัฒนาจนมีความสวยงามทั้งองค์พระธาตุ และสภาพแวดล้อม ประชาชนและนักท่องเที่ยวนิยมไปกราบไหว้ ณ สถานที่จริงแล้ว ดังนั้น เพื่อไม่ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวเกิดความสับสน จึงเสนอให้ พระธาตุขามแก่นศิโรดม เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อีกแห่งหนึ่งของขอนแก่น ซึ่งผลจากการทำประชาชาพิจารณ์ เมื่อเดือนเมษายน 2549 ชาวขอนแก่นเห็นชอบการเรียกขานใหม่ว่า พระธาตุศิโรดมขอนแก่น ถึงร้อยละ 95
มาสมัยนายปานชัย บวรรัตนปราณ ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ได้ทำป้ายชื่อ และทำการ ปรับปรุงพัฒนาฐานโดยรอบ ทาสีองค์พระธาตุศิโรดมขอนแก่นใหม่ และเริ่มเปิดให้ประชาชนเข้าไปกราบไหว้บูชาได้ทุกวัน ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2550 เป็นต้นไป โดยมีการจำหน่ายดอกไม้ธูปเทียนอำนวยความสะดวกแก่ผู้มีจิตศรัทธาด้วย หลังจากที่ในอดีต จะเปิดให้ประชาชนเข้ากราบไหว้ได้เฉพาะในช่วงจัดงานเทศกาลไหมฯ เท่านั้น